Home| Gallery/Activity| Files downloads|
  ค้นหาข่าว :
 
  มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบหายจน บ้านหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2562-2563
  หมวด  ข่าวงานบริการวิชาการ   วันที่ประกาศ  11-12-2562

            ปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้านที่มีความยุงยากและซับซ้อนมากขึ้น เป็นการยากที่จะใช้กระบวนการคิดหรือกระบวนทัศน์แบบเดิม ๆ ในการเข้าแก้ปัญหาของชุมชน เพราะเราต่างกำลังก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ (New World) ที่อยู่ในสภาวะ VUCA ( V- Volatility  (ความผันผวนสูง) U-Uncertainty (สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง) C-Complexity (ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ) และ A-Ambiguity (ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน)) ชุมชนหนองแวงก็ตกอยู่ในสภาวะความยุ่งยากและซับซ้อนของปัญหาในชุมชนเช่นกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่และประชุมร่วมกันในเวทีบริบทชุมชน พบว่า ชุมชนเกิดปัญหาขึ้นในหลายมิติ เช่น ปัญหาสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดและในสภาพแวดล้อม ปัญหายาเสพติด น้ำเสีย ขยะ ปัญหาการทำการเกษตร และผลิตภัณฑ์ของชุมชนไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญในการนำมาช่วยกันสร้างแผนพัฒนาชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

           ในปี 2561 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเวที “สภาผู้นำชุมชนคนหนองแวง กำหนดเป้าหมายร่วมคนหนองแวง” วันที่ 25 เม.ย. 2561 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายนิยม โยหาสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง ร่วมกับ อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน จัดเวที “สภาผู้นำชุมชนคนหนองแวง กำหนดเป้าหมายร่วมคนหนองแวง “  จำนวน 70 คน เพื่อหาเป้าหมายร่วมของคนบ้านหนองแวง โดยที่ประชุมมีการพูดคุยถึง สถานการณ์ของโลก ที่มีผลกระทบต่อคนหนองแวง ประเด็นความห่วงใยของคนหนองแวงเกี่ยวกับ ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านการเกษตรที่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาหนี้สิน และปากท้องของคนหนองแวง   ในตอนท้าย ชุมชนได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อหาเป้าหมายร่วมที่คนหนองแวงจะขับเคลื่อนร่วมกัน และเป็นประเด็นเกี่ยวโยงกับคนหนองแวงเกือบทุกครัวเรือน โดยได้กำหนดเป้าหมายไว้คือ สร้างชุมชนต้นแบบหายจน ( หายจนทางความคิด หายจนทางเศรษฐกิจ) ต่อมาในวันที่ 25 พ.ย. 2561 ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันกำหนด นิยามของคำว่าหายจน โดยการระดมสมอง พบว่า การหายจนของคนหนองแวงแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1) การหายจนด้านสุขภาพ คือการมีสุขภาพดี มีอาหารปลอดสารพิษบริโภคในครัวเรือน  2)  หายจนด้านเศรษฐกิจ คือ การมีสัมมาชีพ มีการบริหารจัดการหนี้ได้ การปลดหนี้ และมีเงินออม และ 3) การหายจนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ การมีทรัพยากรป่าไม้ที่เพียงพอ และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกมิติ การเป็นชุมชนจัดการขยะครบวงจร และการลดปัญหาด้านสังคม เช่นปัญหายาเสพติดในชุมชนให้ลดลงให้ได้ ทั้งนี้ที่ประชุมจะร่วมกัน คัดเลือกครัวเรือนนำร่องเพื่อขับเคลื่อนตามแผนชุมชน โดยจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งชุมชนให้เป็นชุมชน อบอุ่น สุขภาพดี หายจน โดยที่ประชุมยังได้แบ่งกลุ่มเพื่อรับผิดชอบในการหาข้อมูลเพื่อสร้างชุมชนให้หายจนด้านต่าง ๆ ใน 3 ด้าน โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในด้านต่าง ๆ คือ 1. ด้านสุขภาพ ให้ นางเพ็ชรจันทร์ ฉายประดิษฐ์ 2. ด้านเศรษฐกิจ ให้ นางพิกุล  มอศิริ และ3. สังคม สิ่งแวดล้อม ให้ รต.จรูญ  ฉายประดิษฐ์  โดยให้เป็นผู้ประสานงานหลักในแต่ละด้านและให้อาจารย์เข้าร่วมช่วยขับเคลื่อนตามความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองชำนาญ ในเวทีต่อมา ชุมชนได้จัดประชุม ผู้นำ และตัวแทนคนในชุมชน จำนวน 110 คน เพื่อร่วมกันกำหนดแผนและ กลยุทธ์ ในการดำเนินการตามแผนร่วมกัน

           ซึ่งในเวทีครั้งนั้นที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลของชุมชน โดยบ้านหนองแวง ประกอบด้วย 3 หมู่ คือ หมู่ 1 หมู่ 9 และหมู่ 16 มีประชากร 1,839 คน จำนวน 406 ครัวเรือน มีกลุ่มอาชีพ 9 กลุ่ม มีที่ดินทำกินโดยเฉลี่ย 5.7 ไร่ ต่อครัวเรือน ด้านเศรษฐกิจพบว่า ร้อยละ 87 ของคนหนองแวงเป็นหนี้ โดยเฉลี่ย 446,540 บาทต่อครัวเรือน มีเงินออมร้อยละ 57 โดยเฉลี่ย 9,853 บาทต่อครัวเรือน ด้านสุขภาพ พบว่าร้อยละ 7 ของคนหนองแวงมีโรคประจำตัว โดยแบ่งเป็น โรคเบาหวานร้อยละ 61 โรคความดันโลหิตร้อยละ 31 โรคหัวใจร้อยละ 6  โรคเก๊าท์ร้อยละ 2 และเส้นเลือดในสมองร้อยละ 1 ส่วนระดับสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยร้อยละ 21 ระดับเสี่ยงร้อยละ 17 และ ระดับที่ไม่ปลอดภัย (อันตราย) ร้อยละ 61  ส่วนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า บ้านหนองแวงไม่มีพื้นที่ป่าชุมชนเลย แต่มีสวนป่าในครัวเรือนจำนวน 15 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของครัวเรือนทั้งหมด และมีบ่อน้ำสาธารณะจำนวน 101 ไร่ แต่ไม่มีการนำน้ำมาให้ประโยชน์ในการเกษตรของชุมชนเลย ด้านสังคมพบว่าบ้านหนองแวงมีผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวน 19 คน ซึ่งจากข้อมูลพื้นฐานของชุมชน และการเสวนาแลกเปลี่ยนในเวที นำสู่การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของชุมชนร่วมกันคือ การสร้าง”ชุมชนต้นแบบหายจน” โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการสร้างครัวเรือนต้นแบบสุขภาพดี ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างครัวเรือนต้นแบบปลดหนี้ มีเงินออม และยุทธศาสตร์ที่ 3  สร้างชุมชนอบอุ่น สิ่งแวดล้อมดี โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ 1)ครอบครัวต้นแบบหายจน ด้านสุขภาพ(11ตัวชี้วัด) ด้านเศรษฐกิจ(7 ตัวชี้วัด) สังคมและสิ่งแวดล้อม(4 ตัวชี้วัด) และ 2)พัฒนากลุ่มอาชีพ 3 กลุ่ม(1)กลุ่มฮักแพงแบ่งปัน 2)กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกก 3)กลุ่มรักสุขภาพ) ใน 3 ด้าน คือ การผลิต การแปรรูป และการตลาด  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างชุมชนต้นแบบหายจน ซึ่งจากเวทีการลงพื้นที่ขับเคลื่อนตามแผนได้มีการสำรวจข้อมูลจำนวน 57 ครอบครัวที่ยินดีเข้าร่วมเป็นครอบครัวต้นแบบหายจนพบว่าครอบครัวที่สามารถเป็นครอบครัวต้นแบบหายจนในแต่ละด้านดังนี้ 1)ด้านสุขภาพ จำนวน 10 ครอบครัว 2)ด้านเศรษฐกิจ จำนวน 1 ครอบครัว(ครอบครัวของศูนย์เรียนรู้ในชุมชน) และ 3)ด้านสิ่งแวดล้อม/สังคม จำนวน 6 ครอบครัว และร่วมกันวางแผนการดำเนินงานในปีต่อไป ต่อมาในปี 2562 ชุมชนได้จัดโครงการจัดการขยะเป็นประเด็นเร่งด่วนโดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงเป็นผู้สนับสนุนในการอบรมให้ความรู้ในการจัดการขยะอย่างครบวงจรและถูกหลักวิชาการ และนำขยะมาจำหน่ายทำให้เกิดการยกระดับรายได้ของคนในชุมชนอีกทั้งการจัดการขยะยังเป็นประเด็นร่วมของชุมชนที่ตอบเป้าหมายมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่และเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะร่วมกับชุมชน เป็นกิจกรรมความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบหายจน

            ดังนั้นในปี 2563 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ซึ่งได้คัดเลือกชุมชนหนองแวงเป็นชุมชนเป้าหมายในการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืนและการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ร่วมกัน จึงได้จัดโครงการหมู่บ้านต้นแบบมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้น เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและมีความอย่างยั่งยืนต่อไป



  ข่าวอื่น ๆ ในหมวด  :  ข่าวงานบริการวิชาการ
  โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ:ถอดบทเรียนและเขียนเรื่องเล่าคุณธรรมขององค์กรเครือข่ายสังคมจังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 11 ก.ย.2566 
  การประชุมนำเสนอและพิจารณากรอบการประเมินความพึงพอใจเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 
  สถาบันวิจัยลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เพื่อชุมชน ปี 2565 
  วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดโครงการบริการวิชาการเรื่อง กฎหมายชาวบ้านเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 
  มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ตาม โครงการหมู่บ้านต้นแบบมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯ ปี 2564 


 

สถาบันวิจัยและพัฒนา
พื้นที่ในเมือง 62/1 ถ.เกษตรสมบูรณ์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 46000 อาคารสำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ ชั้น 6 พื้นที่นามน 13 ม. 14 ต.สงเปลือย อ.นามน จ. กาฬสินธุ์ 46230 อาคารบริการการศึกษาและบริการกลาง ชั้น 3

  สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 :สถาบันวิจัยและพัฒนา